4:30 หรือตีสี่ครึ่งเป็นเวลาที่คนฆ่าตัวตายมากที่สุด เพราะมันดึกเกินกว่าที่จะหลับ และเร็วเกินไปที่จะตื่น หนังเล่าถึงเด็กชายวัย 11 ขวบ ชื่อ เซียวหวู อยู่ตามลำพังในอพาร์ตเมนต์เพราะแม่ไปทำงานที่ปักกิ่ง นานๆ ครั้งแม่จึงจะโทรทางไกลมาหา เขาไม่มีใครดูแล ไม่มีคนพูดคุย ไม่มีเพื่อน ตอนกลางวันเซียวหวูไปโรงเรียน แต่เขามักจะเผลอหลับจนถูกครูลงโทษ บ่อยครั้งเขาไม่ยอมทำการบ้านตามที่ครูสั่ง โดยเฉพาะการวาดรูป “ความใฝ่ฝัน” โดยเซียวหวูบอกว่าเขาไม่เคยฝัน และการเขียนเรียงความเรื่อง “คนเก่งของฉัน” ซึ่งเด็กผู้ชายมักจะเขียนถึงพ่อของตนเอง อันที่จริงเซียวหวูไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีชายชาวเกาหลีวัยสามสิบชื่อ จุง ที่แม่พามาเช่าพักในอพาร์ตเมนต์ แต่ทั้งสองไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการพูดคุยทักทาย ราวกับว่าต่างพกพาโลกลำพังไว้กับตัวตลอดเวลาเรื่องที่จุงไม่เคยรู้คือ เวลาตี 4 ครึ่ง ซึ่งจุงมักจะเมาหลับใหลไม่รู้สึกตัว เซียวหวูจะย่องเข้ามาในห้องของเขา ค้นสัมภาระและหยิบสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ กลับออกไปในแสงสลัวของช่วงเวลาที่ฟ้าใกล้สว่าง เซียวหวูจะพินิจพิจารณาสิ่งเหล่านั้น พร้อมกับบันทึกลงในหนังสือ ราวกับเป็นการค่อยๆ ทำความรู้จักเพื่อนเพียงคนเดียวในโลก โดยเรื่องราวเกี่ยวกับจุงเพียงเรื่องเดียวที่เซียวหวูรู้แน่ชัดคือ จุงต้องการฆ่าตัวตาย โลกของคนเหงา 2 คน ได้เข้ามาซ้อนเหลื่อมกันในที่สุด เซียวหวูและจุงค่อยๆ เปิดทางให้แก่กันมากขึ้น ทำให้บางค่ำคืนแห่งความเหงาทั้งสองไม่ต้องโดดเดี่ยวลำพัง เซียวหวูยึดเกาะจุงไว้เป็นเหมือนกับฟางเส้นสุดท้ายก่อนที่เขาจะต้องจมหายไปในความเดียวดาย
เกี่ยวกับภาพยนตร์
สำหรับผู้กำกับฯสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่รู้จักนอกประเทศ นอกจาก อีริค คู และแจ๊ค เนียว แล้ว รอยสตัน ตัน คือผู้กำกับฯหนุ่มมาแรงอีกคนหนึ่งที่ถูกจับตามองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมารอยสตันผันตัวจากการกำกับหนังโฆษณามาทำหนังยาวเรื่องแรกชื่อ “15” ในปี 2003 โดยขยายความจากหนังสั้นชื่อเดียวกันของตนเอง หนังเกี่ยวกับแก๊งวัยรุ่นสุดหวือหวาที่มีฉากยาเสพติดเรื่องนี้โดนกรรมการเซ็นเซอร์ของสิงคโปร์หั่นทิ้งหลายฉากและได้เรตอาร์หรือจำกัดผู้ชมที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ว่ากันว่าเหตุผลลึกๆ ที่ทางการไม่ปลื้มเพราะหนังใช้ภาษาฮกเกี้ยนมากเกินไป แทนที่จะใช้ภาษาจีนกลางหรือภาษาอังกฤษ
สำหรับผู้กำกับฯสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่รู้จักนอกประเทศ นอกจาก อีริค คู และแจ๊ค เนียว แล้ว รอยสตัน ตัน คือผู้กำกับฯหนุ่มมาแรงอีกคนหนึ่งที่ถูกจับตามองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมารอยสตันผันตัวจากการกำกับหนังโฆษณามาทำหนังยาวเรื่องแรกชื่อ “15” ในปี 2003 โดยขยายความจากหนังสั้นชื่อเดียวกันของตนเอง หนังเกี่ยวกับแก๊งวัยรุ่นสุดหวือหวาที่มีฉากยาเสพติดเรื่องนี้โดนกรรมการเซ็นเซอร์ของสิงคโปร์หั่นทิ้งหลายฉากและได้เรตอาร์หรือจำกัดผู้ชมที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ว่ากันว่าเหตุผลลึกๆ ที่ทางการไม่ปลื้มเพราะหนังใช้ภาษาฮกเกี้ยนมากเกินไป แทนที่จะใช้ภาษาจีนกลางหรือภาษาอังกฤษ
ปี 2005 รอยสตันมีงานใหม่ชื่อ 4 : 30 ด้วยสไตล์นิ่งเงียบสงบเสงี่ยมต่างจากผลงานเรื่องแรกโดยสิ้นเชิง ชื่อหนังหมายถึงเวลาตี 4 ครึ่ง ซึ่งรอยสตันอธิบายว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาสัมผัสถึงความเหงาจับจิต ขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงการเชื่อมต่อกับผู้คนได้ เป็นความรู้สึกขัดแย้งที่ยากอธิบายจนต้องถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง ขณะที่หนังเหงาๆ เรื่องอื่นมักจะไม่บอกกล่าวปมหรือปูมหลังความเป็นมาของตัวละครเท่าใดนัก แต่รอยสตันได้เติมเต็มตัวละครใน 4 : 30 ให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงปมปัญหาสำคัญอันเป็นที่มาของพฤติกรรมของตัวละคร และถือเป็นความดีความชอบของบทหนังที่เขียนโดยรอยสตันและ เลียม เยียว ในการสื่อถึงเรื่องดังกล่าวทั้งที่หนังทั้งเรื่องมีบทสนทนานับครั้งได้ รวมทั้งใช้ภาพเล่าเรื่องง่ายๆ คอยช่วยเสริมเช่น ฉากที่บอกว่าเซียวหวูไม่มีพ่อ และให้ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับจุงในสายตาของเซียวหวู ผ่านการอ่านเรียงความเพียงฉากเดียว หรือฉากกลางดึกที่เซียวหวูดูหนัง พร้อมกับพูดบทสนทนาของตัวละครหนึ่งโต้ตอบกับอีกตัวได้อย่างแม่นยำ ทำให้เข้าใจได้ว่าเซียวหวูดูหนังเรื่องนี้เพื่อฆ่าเวลายามดึกดื่นมาแล้วหลายรอบ และการโต้ตอบกับตัวละครในหนังก็เหมือนกับได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์(สังเกตว่าเซียวหวูพูดทับบทของตัวละครหญิงโต้ตอบกับตัวละครชาย เมื่อนำมาเชื่อมกับเรื่องราวความใกล้ชิดกับจุง หนังจึงมีแง่มุมของรักร่วมเพศปะปนอยู่)
หากการย่องเข้าห้องจุง หยิบสิ่งของ และจดบันทึก คือการทำความรู้จักเพื่อนเพียงคนเดียวของเซียวหวู หนังได้ค่อยๆ เพิ่มระดับให้เซียวหวูรู้จักจุงมากขึ้น โดยครั้งแรกสิ่งที่เซียวหวูหยิบกลับออกมาเป็นเพียงขยะที่บอกว่าจุงกินอะไร ชิ้นต่อมาคือชิ้นส่วนจากร่างกายของจุง อีกวันหนึ่งเป็นภาพถ่ายคู่ของคนทั้งสอง จนเมื่อเซียวหวูกับจุงแบ่งปันความรู้สึกต่อกัน ชิ้นส่วนในบันทึกวันต่อมาจึงเป็นคราบน้ำตาบนเสื้อ การที่เซียวหวูบันทึกความสัมพันธ์เหล่านี้ไว้ท้ายแต่ละบทของหนังสือจึงเปรียบเป็นเรื่องราวที่ดำเนินคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และเซียวหวูไม่ต้องการสูญเสียมันไป และเพราะเหตุนี้ เมื่อความสัมพันธ์ดังกล่าวต้องสะบั้นลงก่อนถึงบทสุดท้ายจึงนำพาความโศกเศร้าถึงที่สุด เหมือนว่าโลกก่อนฟ้าสว่างของเซียวหวูจะมืดมิดลงตลอดกาล
ว่าไปแล้วเรื่องของคนเหงาผู้โหยหากับการล่วงล้ำ “พื้นที่ส่วนตัว” อาจทำให้นึกถึง Chungking Express(1994) ของหว่องกาไว ขณะเดียวกัน เรื่องราวทำนองนี้กับสไตล์ภาพนิ่งเงียบ เนิ่นนาน และพฤติกรรมไม่เด่นชัดของตัวละครก็ใกล้เคียงกับ Vive L’Amour(1994) ของ ไฉ้หมิงเลี่ยง อย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ฉากตัวละครชาวต่างชาติพยายามแขวนคอในห้องพัก กับความสัมพันธ์ของคนเหงา 2 คน ยังพ้องกับ Last Life in the Universe(2003) ของ เป็นเอก รัตนเรือง
รายละเอียดภาพยนตร์ชื่อภาษาอังกฤษ : 4:30
ภาษา : สิงคโปร์
ประเภท : ดราม่า
ผู้กำกับ / เขียนบท : Royston Tan
นำแสดงโดย : Zhang Xiao Wu - Xiao Li Yuan / Jung - Kim Young Jun ความยาว : 93 นาที
กำหนดฉาย : 2005
Official Site http://www.zhaowei.com/430/synopsis.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น